วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

โมก : หอมละมุนกรุ่นเสน่ห์ทั้ง วงศ์วาน

ดอกไม้..ให้คุณ
        เหม่อดูหมู่แมกไม้
        เหตุไฉนดูเศร้าหมอง
        หรือเค้าโมงที่เคยมอง
        เคยจู่จับกลับหายไป

       โมกซ้อนกลีบอ่อนหวาน
       สั่นสะท้านเหมือนจับไข้
       อ่อนระโหยด้วยโพยภัย
      ที่สาดสุมมารุมทรวง

      จากไปไม่เหลือแล้ว
      ประกายแก้วเคยห่วงหวง
      เดือนดับกับแดดวง
      แล้วพฤกษ์ไพรก็หายวับฯ

โมก [โมกลา โมกซ้อน โมกบ้าน]
วงศ์ : Apocynaceae 
ดอกไม้..ให้คุณ
            ไม้ต้นนี้มีเพื่อนพ้องน้องพี่่ร่วมวงศ์เดียวกันเป็นไม้ดอกสวยงามมากมายเช่น ลีลาวดี บานบุรี ยี่โถ ชวนชม รำเพย ตีนเป็ดและพญาสัตบรรณฯลฯ เป็นต้น ลักษณะเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของพืชในวงศ์นี้คือ มียางเหนียว ๆ สีขาวข้นในแทบทุกส่วนของลำต้นที่จะไหลซึมออกมาทันทีที่ถูกสะกิด ซ้ำร้ายกว่านั้น ยางของไม้ในวงศ์นี้บางต้น โดยเฉพาะยางของต้นรำเพย ยี่โถ และชวนชมยังมีพิษเบื่อเมาอย่างร้ายแรง จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับเด็ก ๆ ที่อาจสัมผัสหรือเผลอรับประทานเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

โมกบ้าน
            โมก..เป็นไม้ที่อยู่เคียงคู่กับสังคมไทยมานานแล้วเฉกเช่นเดียวกับไม้ไทยโบราณอื่น ๆ หลายต้น บทประพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงไม้โมกและไม้โมกมันที่ปรากฎอยู่ในวรรณคดีไทยก็่มีหลายต่อหลายเรื่องเช่นกัน อย่างเช่นในบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่่ ๑ เรื่อง “รามเกียรติ์” ที่ว่า

        ไก่แก้วจับแก้วขันขาน
        กระเหว่าจับกระวานส่งเสียง
        เค้าโมงจับโมกมองเมียง
        นกหกจับเหียงเคียงจร




และยังปรากฎในเสภาเรื่อง “ขุนช้าง ขุนแผน”..

        เขาไฟจับต้นรกฟ้าคู...
        วายุภักษ์จับกิ่งแสลงพัน
        เบ็ญจวรรณจับหว้าอยู่เคียงคู่
        เค้าโมงจับโมกแล้วเมียงดู
        กระลุมพูจับบนต้นโพบาย...

ดอกไม้..ให้คุณ
            สังเกตไหมครับว่า กวีสมัยก่อนมักจับ “เค้าโมง” มาคู่กับ “โมก” บ่อยครั้ง อาจเป็นเพราะสัมผัสเสียงหรือเพราะธรรมชาติของนกเค้าโมง (Asian Barred Owlet) ซึ่งเป็นนกตัวเล็กที่สุดในตระกูลนกฮูกและเป็นชนิดเดียวที่สามารถพบเห็นได้ในตอนกลางวันก็ได้...
            พันธุ์ไม้ในสกุลโมก (Genus Wrightia) นี้ มีขึ้นปะปนอยู่ในป่าไม้เมืองไทยมากมายหลายชนิดพันธุ์ ประมาณกันว่าไม่น้อยกว่า ๑๒ ชนิด บ้างก็ยืนต้นสูงใหญ่ เช่นที่เรียกว่า โมกมันหรือมูกมัน สูงได้กว่า ๓๐ เมตร ปัจจุบันน่าจะหมดไปจากป่าเมืองไทยแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดีก็คือ โมกบ้านทั้งชนิดดอกลาและดอกซ้อน โมกชนิดนี้ ปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศที่ขึ้นเองตามธรรมชาติก็มีมาก จนบางแห่งถึงกับนำไปตั้งเป็นชื่อท้องถิ่นเลยก็มี อย่างเช่น อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทองเป็นต้น
ดอกไม้..ให้คุณ

            โมกเป็นไม้พุ่มยืนต้นดอกหอมที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้ง่าย คนไทยจีงนิยมปลูกประดับบ้านมานานแล้ว ทั้งที่ปลูกเป็นแนวรั้วหรือตัดแต่งทรงพุ่มเป็นไม้ดัดรูปลักษณ์ต่าง ๆ ที่นำไปเลี้ยงเป็นไม้แคระหรือบอนไซก็มีไม่น้อย ดอกโมกมีกลิ่นหอมละมุน และหอมแรงตั้งแต่ช่วงเย็น ๆ จนพลบค่ำ ออกดอกตามง่ามใบและปลายกิ่งสีขาวกระจิริดพรูพราวทั้งต้นเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งปี แต่จะดกเป็นพิเศษในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน
            ปัจจุบัน มีการเพาะเลี้ยงโมกชนิดใหม่ ๆ รวมทั้งที่นำออกมาจากป่า เพื่อใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายแม้ด้วยวิธีการปักชำในโมกบางชนิด ส่วนที่ไม่อาจเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ก็ใช้วิธีต่อยอดหรือทาบกิ่งกับต้นตอแทน จึงปรากฎโมกพันธุ์สวยงามชนิดใหม่ ๆ หลากสีสรรพ์้ให้เราได้ชื่นชมกันมากมาย รวมทั้งพุดพิชญาที่มีดอกคล้ายโมกราชินีและกำลังได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงกันโดยทั้วไป ก็จัดอยู่ในพืชตระกูลโมกด้วยเช่นกัน...ฯ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น